รายละเอียดต่าง ๆ ที่ปรากฏบนแผ่นแสตมป์ ของ แผ่นแสตมป์

ครั้งที่พิมพ์ของแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์

บนแผ่นแสตมป์ นอกเหนือไปจากแสตมป์ที่อยู่ภายใน ส่วนขอบของแผ่นรอบ ๆ แสตมป์ (เรียกอีกชื่อว่าชานแสตมป์ หรือ ชานกระดาษ) มักมีการพิมพ์ข้อมูลอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น

  • หมายเลขแผ่น
  • เครื่องหมายระบุ แท่นพิมพ์ หรือ เพนในชีท อาจเป็นหมายเลข ตัวอักษร หรือรูปภาพ
  • ชื่อโรงพิมพ์
  • วันแรกจำหน่ายแสตมป์
  • ครั้งที่พิมพ์
  • จุดควบคุมสี เป็นเครื่องหมายเพื่อให้ตรวจสอบได้ง่ายว่า พิมพ์ครบทุกสีในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่
  • ข้อความประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมให้ใส่รหัสไปรษณีย์บนจดหมาย เป็นต้น

ข้อมูลต่าง ๆ ที่ยกมาข้างบนอาจมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับชุดและโรงพิมพ์ แต่อย่างน้อยมักต้องมี หมายเลขแผ่น (ประโยชน์ในการนับ) และชื่อโรงพิมพ์

ส่วนหมายเลขแท่นพิมพ์ เพน ครั้งที่พิมพ์ และจุดควบคุมสีรูปแบบจะขึ้นอยู่กับโรงพิมพ์ (เรียก plate number หรือ cylinder number ขึ้นกับเทคนิกการพิมพ์ว่าใช้แทนพิมพ์แบบราบหรือแบบลูกกลิ้ง) ตัวอย่างเช่น แสตมป์ของโรงพิมพ์แฮริสัน แอนด์ ซันส์ (Harrison And Sons) ใช้สัญลักษณ์ เช่น 1A, 1B, ... โดยที่หมายเลข 1 แทนพิมพ์ครั้งที่ 1 ส่วน A, B, ... แทน หมายเลขแท่นพิมพ์ หรือ เพน

การที่มีการพิมพ์ลายละเอียดรอบ ๆ แผ่นแสตมป์ ทำให้นักสะสมหลายคนนิยมสะสมแสตมป์พร้อมทั้งชานแสตมป์ โดยไม่ฉีกส่วนนั้นออก ตัวอย่างรูปแบบที่นิยมแบบหนึ่ง คือ การสะสมแสตมป์สองแถวล่าง หมายถึงมีแสตมป์ติดกันสองแถวพร้อมทั้งขอบด้านล่างของแผ่น ซึ่งในแสตมป์หลาย ๆ ชุด จะมีรายละเอียด เช่น ชื่อโรงพิมพ์ หมายเลขแผ่น ครั้งที่พิมพ์ ครบถ้วน